สภาคริสตจักรในประเทศไทย มีความมุ่งมั่นมากกว่า ๕๐ ปี ที่จะจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาของคริสเตียน แต่ความตั้งใจดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงด้วยสาเหตุหลายประการ จนในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เมื่อรัฐบาลออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการศึกษาอุดมศึกษาของเอกชนโดยอนุญาตให้เอกชนจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ สภาคริสตจักรในประเทศไทยจึงรื้อฟื้นแนวความคิด ที่จะจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยยกฐานะของสถาบันการศึกษาเดิม คือ โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยแมคคอร์มิค และโรงเรียนพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี ขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษา มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยเอกชนของสภาคริสตจักรในประเทศไทยขึ้น เพื่อให้เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ จนในที่สุดได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้จัดตั้งเป็นวิทยาลัยพายัพ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยเปิดสอนครั้งแรก ในระดับปริญญาตรี ๗ สาขาวิชา และระดับอนุปริญญา ๑ สาขาวิชา มีนักศึกษารุ่นแรกทั้งสิ้น ๑๘๙ คน มาจาก ๑๕ จังหวัด และต่อมหาวิทยาลัยพายัพก็ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนประเภทจาก “วิทยาลัย” เป็น “มหาวิทยาลัย” เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ นับเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย
ภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า Payap University ใช้อักษรย่อว่า P.Y.U.
มหาวิทยาลัยพายัพ ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากทบวงมหาวิทยาลัย และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้รับรองคุณวุฒิของผู้ที่สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยพายัพว่ามีศักดิ์และสิทธิ์เท่าเทียมกับผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันของรัฐทุกประการ
ปณิธานของมหาวิทยาลัยพายัพ
มหาวิทยาลัยพายัพ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรก ของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย เพื่อแสดงถึงความรักของพระเจ้า ความเชื่อ ความศรัทธาของมนุษย์ต่อพระเจ้า และความเกื้อกูลซึ่งกันและกันของมนุษยชาติ
มหาวิทยาลัยพายัพ จะยึดมั่นใน “สัจจะ-บริการ” โดยแสวงหาความดีเลิศทางวิชาการและคุณธรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เห็นแจ้งในสัจจะแห่งชีวิต และจะเสริมสร้างทัศนคติที่ดีในการบริการ รับใช้สังคม
ผู้ที่ได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยพายัพ จะต้องรู้จักพัฒนาตนเอง มีความรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความประพฤติดีงาม มีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม และมีความสามารถในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
วิสัยทัศน์(Vision) : แหล่งเรียนรู้สากล พัฒนาคนสู่พลเมืองโลก
แหล่งเรียนรู้สากล หมายถึง เป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปและเป็นสากล เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ และปัญญา ผ่านกระบวนการการเรียนรู้ตลอดชีวิต
พัฒนาคนสู่พลเมืองโลก หมายถึง ปลูกฝังและพัฒนาคนให้มีสมรรถนะความเป็นสากล ทั้งทางวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต เพื่อการดำรงชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคมโลกอย่างสันติสุข
TH | EN | CN